วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

น้ำตาเทียมกับภาวะตาแห้ง

น้ำตาเทียมกับภาวะตาแห้ง
ศ.พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต

ดวงตาเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อนของคนเรา จะทำงานได้ดีจำต้องมีผิวชุ่มชื้น จะมีผิวแห้งแบบอวัยวะอื่นไม่ได้ การที่ดวงจะชุ่มชื้นอยู่ได้ต้องมีน้ำตาที่พอเพียงและสามารถเคลือบผิวดวงตาได้เป็นอย่างดี น้ำตาที่เคลือบผิวตาและหล่อเลี้ยงดวงตานี้หลั่งมาจากต่อมต่างๆ จากหนังจาและเยื่อบุตาด้วยจำนวนที่พอเหมาะกับการระบายออกของน้ำตา ทำให้เจ้าตัวไม่รู้สึกว่ามีน้ำตา ส่วนน้ำตาที่เกิดจากอารมณ์ดีใจ เสียใจ หรือเวลามีสิ่งแปลกปลอมเข้าตาจะหลั่งมาจากต่อมน้ำตาใหญ่ที่อยู่ใต้หนังตาบนด้านนอกอย่างมาก จึงท้นออกมาให้เราเห็นด้วยตา

น้ำตาที่หลั่งออกมาตามปกตินั้นมีหน้าที่และประโยชน์หลายประการได้แก่

* ฉาบผิวหน้าของตาดำให้เรียบ ทำให้มีการหักเหของแสงที่สม่ำเสมอ ทำให้ตาเรามองเห็นได้ชัดเจนดี ถ้าไม่มีน้ำตาฉาบผิวตาดำอาจไม่เรียบ ทำให้การหักเหของแสงไม่สม่ำเสมอ มีการแตกกระจายของแสง การมองเห็นลดลง

* ทำหน้าที่หล่อลื่นผิวดวงตา โดยการป้องกันความแห่งของผิวตาดำในขณะลืมตาและป้องกันการเสียดสีของเปลือกตากับตาดำเวลากระพริบตาทำให้ตาสบาย

* ในกรณีที่ผิวตาดำเป็นแผลขรุขระ ทำให้เจ็บตาเคืองตามาก น้ำตาจะฉาบผิวที่ขรุขระลดอาการเคืองตาลงได้

* ทำหน้าที่ชะล้างสิ่งแปลกปลอมที่อาจพลัดเข้ามาในตา อาจเป็นผง สารเคมี หรือแม้แต่เชื้อโรค

* น้ำตายังประกอบไปด้วยสารต่างๆ ที่จำเป็นและช่วยให้เซลล์ผิวดวงตาแข็งแรงสมบูรณ์ ได้แก่ ออกซิเจน เป็นอาหารต่อผิวดวงตา โดยปกติกระจกตาเป็นอวัยวะที่ไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงจึงอาศัยออกซิเจนจากอากาศและน้ำตาเป็นหลัก น้ำตายังเต็มไปด้วยสารอาหารประเภทelectrolyte วิตามินต่างๆ โดยเฉพาะวิตามินเอ อีทั้งยังมีสารต้านจุลชีพ(antimicrobial) และสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant) ซึ่งสารเหล่านี้จำเป็นสำหรับการคงไว้ของสภาพที่ปกติของผิวตา หากขาดสารเหล่านี้พื้นผิวดวงตาจะแห้ง กลอกและหลุดลอกได้ง่าย

ในภาวะปกติน้ำตาสร้างมาจากต่อมน้ำตา ต่อมภายในเยื่อบุตา ต่อมบริเวณโคนขนตา ตลอดจนต่อม ภายในหนังตา แต่ละต่อมสร้างน้ำตาต่างชนิดกัน โดยเรียงเป็น 3 ชั้น ชั้นนอกเป็นชั้นไขมัน ชั้นกลางเป็นน้ำ และชั้นที่ชิดผิวตาเป็นชั้นเมือก น้ำตาจะหายไปโดยการระเหยร้อยละ 20 ที่เหลือจะไหลลงท่อบริเวณหัวตาลงสู่คอและจมูก



ภาวะตาแห้งหรือน้ำตาน้อยกว่าปกติจะพบในกรณีใดบ้าง

* เป็นแต่กำเนิด เป็นเด็กที่ไม่มีต่อมน้ำตา กรณีนี้พบได้น้อยมาก
* ผู้สูงอายุ ต่อมน้ำตาทำงานน้อยลง อาการเด่นชัดในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน แต่ไม่ชัดนักในชายสูงอายุ เชื่อว่าระดับฮอร์โมนน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
* ผู้ที่ได้รับการฉายรังสีเพื่อรักษาเนื้องอกบริเวณใบหน้า ทำให้มีการทำลายต่อมสร้างน้ำตา
* การใช้เลนส์สัมผัสชนิดนิ่มนานๆ ตลอดจนผู้ทำงานกับคอมพิวเตอร์นานๆ
* สารเคมีเข้าตา ซึ่งสารเคมีจะทำลายต่อมต่างๆ ในเยื่อบุตา
* มีโรคตาบางอย่างเรื้อรัง เช่น เปลือกตา เยื่อบุตาอักเสบ โรคริดสีดวงตา เป็นต้น
* มีโรคบางอย่างทางร่างกาย โดยเฉพาะโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(connective tissue) เช่น โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง โรครูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี เป็นต้น
* จากการใช้ยารักษาโรคทางกาย หรือยาหยอดตาบางตัว ฯลฯ
* การแพ้ยา
* ฯลฯ

อาการของภาวะตาแห้งที่สำคัญ
อาการของภาวะตาแห้งที่สำคัญ ได้แก่ ระคายเคืองตา คล้ายมีผงอยู่ในตา บางรายมีอาการมองไม่ชัดด้วย ต้องกระพริบตาจึงเห็นดีขึ้น อาการมักเป็นมากในช่วงบ่ายๆ เย็นๆ มากกว่าตอนเช้า อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อทำงานที่ต้องใช้สายตา เช่น อ่านหนังสือ ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ดูโทรทัศน์ อาการต่างๆ เหล่านี้จะค่อยเป็นค่อยไป เป็นนานเรื้อรัง บางคนอาจบอกว่ารู้สึกตาฝืดๆ มีขี้ตาเป็นเมือกๆ เส้นๆ ตาแห้งนานมากจะทำให้ผิวตาดำไม่เรียบ ตาติดเชื้อได้ง่าย หากติดเชื้อตาดำจะเป็นแผล ทำให้อาการเลวลงไปอีก ถ้ารักษาไม่ดีแผลอักเสบในตาดำทรุดลงทำให้ตาบอดได้

การใช้น้ำตาเทียมในภาวะตาแห้ง
แน่นอนคงต้องชดเชยด้วยการหยอดน้ำตาเทียม ในสมัยก่อนการรักษาภาวะตาแห้งทำโดยพยายามใช้สารหล่อลื่น มีตั้งแต่การใช้ไข่ขาวและใช้ไขมันหยอดตาก่อนนอน การหยอดน้ำเกลือและน้ำมันชนิดต่างๆ จนในราว ค.ศ.1900 ความรู้เรื่องภาวะตาแห้งมีมากขึ้นมีการใช้สารที่เพิ่มความหนืดให้กับน้ำ ตลอดจนสารเพื่อเพิ่มระยะเวลาให้ยาอยู่ในตาได้นานขึ้น

สารหล่อลื่นหรือน้ำตาเทียมควรจะมีลักษณะใกล้เคียงกับน้ำตาปกติ ส่วนประกอบที่สำคัญ คือ polymer เพื่อให้น้ำตาเทียมมีความหนืด มีความตึงผิว ใช้ buffer เพื่อปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างที่พอเหมาะทำให้ไม่แสบตา มีส่วนของเกลือเพื่อควบคุม toxicity และเช่นเดียวกับยาหยอดทุกตัวที่เปิดใช้นานากว่า 24 ชั่วโมงจะต้องมีสาร preservative เพื่อป้องกันการเติบโตของจุลชีพที่อาจปนเปื้อนเข้าไปขณะหยอด น้ำตาเทียมก็เช่นกัน แต่สาร preservative เกือบทุกตัวมีผลทำลายเซลล์เยื่อบุผิวทั้งนั้น หากตาแห้งมากหยอดมากครั้งก็ทำให้สารนี้เป็นโทษและทำลายเยื่อบุผิวมากขึ้น อย่างไรก็ตามน้ำตาเทียมที่มี preservative ที่เป็นขวดใหญ่ ใช้สะดวก ใช้ได้นานกว่า ในปัจจุบันมีน้ำตาเทียมชนิดที่ไม่มี preservative เปิดแล้วต้องใช้ภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อเลี่ยงพิษของ preservative

โดยสรุปน้ำตาเทียมที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิด ชนิดขวดใหญ่ใช้ได้นาน กับชนิดใช้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งคิดค่าใช้จ่ายแล้วจะมีราคาแพงกว่า การจะเลือกใช้น้ำตาเทียมชนิดไหนขึ้นกับโรคและความรุนแรง โดยทั่วไปถ้าตาไม่แห้งมาก ควรเริ่มจากชนิดขวดใหญ่ แต่ควรพิจารณาใช้ชนิดที่มีอายุการใช้งาน 24 ชั่วโมงเมื่อ * ภาวะตาแห้งค่อนข้างรุนแรง ต้องหยอดน้ำตาเทียมมากกว่า 4 ครั้งต่อวันเป็นเวลานาน
* ผู้ที่มีประวัติแพ้สาร preservative
* ผู้ที่มีโรคของผิวกระจกตา เซลล์ของผิวกระจกตาไม่ค่อยสมบูรณ์ การใช้น้ำตาเทียมแบบมี preservative ทำให้ผิวกระจกตาเสียมากขึ้น

น้ำตาเทียมแม้เป็นสารที่ช่วยหล่อลื่นดวงตา ลดอาการตาแห้งได้ แต่ในคนที่มีอาการมากก็น่าจะไปตรวจสุขภาพดวงตาอย่างละเอียดดูดีกว่าค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: